📌 เกี่ยวกับอะไร ?
มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองคือหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของไทยที่มีจุดเด่น คือ ผลใหญ่ เปลือกสีเหลืองทอง เนื้อละเอียด รสชาติหวาน แต่ด้วยมะม่วงสายพันธุ์นี้มีเปลือกสีเหลืองตั้งแต่เริ่มสุกบนต้นหรือระยะที่ยังไม่พร้อมรับประทาน ผู้บริโภคจึงแยกระดับความสุกยาก และอาจพลาดโอกาสลิ้มรสมะม่วงในช่วงมีรสชาติอร่อยที่สุดไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาฉลากอัจฉริยะระบุความสุกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในรูปแบบเซนเซอร์ตรวจจับก๊าซเอทิลีนที่ผลไม้ปล่อยออกมาเพื่อกระตุ้นให้กระบวนการสุกเริ่มขึ้น ฉลากมีลักษณะเป็นสติกเกอร์สำหรับแปะผลไม้ มีลวดลายเป็นวงกลม 2 ชั้น วงในเป็นเซนเซอร์ตรวจจับปริมาณก๊าซที่จะมีสีเปลี่ยนแปลงไปตามระดับความเข้มข้น ส่วนวงนอกเป็นแถบสีสำหรับเทียบระดับความสุก
ฉลากอัจฉริยะที่นักวิจัยพัฒนาขึ้นระบุความสุกหรือรสชาติของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้ 3 ระดับ คือ สีเขียวอ่อนอมเทาหมายถึงสุกน้อย มีรสชาติเปรี้ยว สีเขียวอ่อนหมายถึงสุกปานกลาง มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน และสีเขียวเข้มหมายถึงสุกพร้อมรับประทาน มีรสชาติหวาน
📌 ดีอย่างไร ?
ผู้จำหน่ายเพียงแปะฉลากลงบนผลมะม่วง ส่วนผู้บริโภคก็เลือกซื้อตามระดับความสุกที่ต้องการ และประมาณเวลาในการบริโภคตามระดับความสุก
📌 ตอบโจทย์อะไร ?
การทราบระยะความสุกของผลไม้ ทำให้ผู้จำหน่ายและผู้บริโภคบริหารจัดการผลผลิตได้อย่างเหมาะสม เช่น ผู้จำหน่ายใช้เป็นข้อมูลวางแผนการตลาดหรือโปรโมชันเพื่อลดการสร้างขยะอาหาร หรืออาจทำเป็นอาหารเมนูต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อจำหน่ายได้ ส่วนผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลวางแผนการรับประทานให้ทันเวลาเพื่อลดการสร้างขยะอาหารได้เช่นกัน
ทั้งนี้ IMARC Group บริษัทด้านการวิจัยตลาดต่างประเทศประมาณการไว้ว่าความต้องการฉลากอัจฉริยะจะสูงขึ้นในปี 2567-2575 ด้วยค่า CAGR (compound annual growth rate) ที่ร้อยละ 11.4 หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 1.09 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 เป็น 2.97 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2575 ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเริ่มลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลไม้ไทย โดยปัจจุบันทีมวิจัยพร้อมเปิดรับโจทย์การวิจัยฉลากอัจฉริยะระบุความสุกของผลไม้ชนิดต่าง ๆ ตามที่ผู้ประกอบการต้องการด้วย
📌 สถานะของเทคโนโลยี ?
พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณปิยะรัตน์ เซ้าซี้ อีเมล piyarath.sao@nanotec.or.th
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัย : สวทช. พัฒนาฉลากอัจฉริยะระบุระดับความสุกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดขยะอาหาร
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์