‘มะเร็งเต้านม’ เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงไทยและทั่วโลก โดยปี 2565 เฉพาะประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมากกว่า 38,500 ราย ทางการแพทย์จึงออกประกาศแนะนำให้สุภาพสตรีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองผ่านการคลำหาก้อนเนื้ออย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ทุก 3 ปี ส่วนผู้มีอายุในช่วง 35 ปีขึ้นไปควรตรวจด้วยเทคนิคแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวด์ร่วมด้วย ทั้งนี้หากพบก้อนเนื้อที่มีความผิดปกติ แพทย์จะให้ทำอัลตราซาวด์หาตำแหน่งเจาะเต้านมเพื่อเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ แล้วนำผลที่ได้มาใช้วางแผนการรักษาคนไข้อย่างเหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ดีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมในประเทศไทยยังพบปัญหาว่ามีอาจารย์แพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ทำหัตถการด้านนี้ได้ไม่มากนัก เนื่องด้วยอุปสรรคด้านการเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนรู้เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาสูง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมกับ ศ. พญ.ชลทิพย์ วิรัตกพันธ์ และ ดร.จารุวรรณ อ่อนวรรธนะ จากภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัทเช็ค เซอร์วิส แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด พัฒนา ‘แพลตฟอร์มเต้านมจำลอง’ สำหรับใช้ฝึกความแม่นยำในการทำอัลตราซาวด์และเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อจากเต้านม
ดร.บริพัตร เมธาจารย์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ เอ็มเทค สวทช. เล่าว่า ด้วยปัญหาขาดแคลนแบบจำลองสำหรับให้แพทย์ใช้ศึกษาและฝึกฝนการทำหัตถการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม ทำให้ที่ผ่านมาอาจารย์แพทย์ต้องสร้างแบบจำลองขึ้นจากอกไก่ที่มีลักษณะเป็นกล้ามเนื้อคล้ายกับหน้าอกคน และใส่องุ่นหรือมะกอกเข้าไปเพื่อจำลองเป็นก้อนเนื้อผิดปกติ สำหรับให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางใช้ฝึกอัลตราซาวด์และแทงเข็มเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ ซึ่งโดยทั่วไปแต่ละคนต้องฝึกอย่างน้อย 20-30 ครั้ง จึงจะลงมือทำหัตถการกับคนไข้จริงได้
“เพื่อลดอุปสรรคในการเรียนรู้ เอ็มเทคร่วมกับอาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ฯ และบริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์พัฒนาแพลตฟอร์มเต้านมจำลองที่อัลตราซาวด์เห็นก้อนเนื้อชัดเจน และมีก้อนเนื้อบรรจุภายในเต้านมสำหรับฝึกทำหัตถการ 2 ประเภท ประเภทแรกผลิตจาก hypoechoic material เมื่ออัลตราซาวด์แล้วจะให้ภาพที่มีลักษณะเหมือนกับก้อนเนื้อร้าย (malignant) หรือก้อนเนื้องอกทั่วไป (benign) ส่วนอีกประเภทคือ hyperechoic material เมื่ออัลตราซาวด์แล้วจะให้ภาพที่มีลักษณะเหมือนก้อนเนื้องอกหรือซีสต์ โดยแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นนี้นอกจากจะเห็นภาพก้อนเนื้อได้อย่างชัดเจนด้วยอัลตราซาวด์ในการฝึกทำหัตถการแล้ว ยังปรับขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อตามโจทย์ที่อาจารย์แพทย์ต้องการให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางฝึกฝนได้ด้วย โดยเต้านมจำลอง 1 ชิ้น บรรจุก้อนเนื้อได้ประมาณ 10-12 ก้อน ใช้ฝึกฝนได้ประมาณ 10-30 ครั้ง ทั้งนี้จากการนำอุปกรณ์ให้อาจารย์แพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางทดสอบใช้งานจริงได้ผลตอบรับที่ดีมาก เพราะนอกจากใช้ฝึกฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังใช้งานได้สะดวกและถูกสุขลักษณะด้วย”
ผลจากการร่วมกันทำวิจัยครั้งนี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อการฝึกทำหัตถการเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมเท่านั้น ยังต่อยอดไปสู่การผลิตอุปกรณ์ฝึกฝนการทำหัตถการในแขนงอื่น ๆ ด้วย
ดร.บริพัตร อธิบายว่า ทีมอาจารย์แพทย์ไม่ได้ขาดแคลนแค่อุปกรณ์ฝึกฝนตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม แต่ยังมีอีกหลายสาขาวิชาที่ต้องการแบบจำลองอวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อใช้ในการสอนและติดต่อเข้ามาแล้ว เช่น ‘หัวไหล่จำลอง’ สำหรับฝึกฉีดสารเข้าตำแหน่งที่ทำหัตถการได้ยาก ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องฝึกฝนเพื่อฉีดสารบรรเทาอาการปวดหรือบาดเจ็บให้แก่ผู้สูงอายุและนักกีฬา ‘กระดูกสันหลังจำลอง’ สำหรับใช้ฝึกฉีดสารไปยังบริเวณกระดูกสันหลังอย่างแม่นยำ เพื่อรักษาโรคต่าง ๆ หรือบรรเทาอาการเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วย ‘ช่วงท้องน้อยของสตรีจำลอง’ สำหรับใช้ฝึกเก็บรกหรือน้ำคร่ำเพื่อตรวจสอบความผิดปกติของทารกขณะตั้งครรภ์
“จากความต้องการชุดอุปกรณ์สำหรับฝึกทำหัตถการทั้งในไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันทีมวิจัยดำเนินการพัฒนาคลังวัสดุสำหรับใช้ในการผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้สามารถเลือกใช้วัสดุได้อย่างเหมาะสม ผลิตตามโจทย์ได้รวดเร็ว เป็นประโยชน์ต่อทั้งการใช้งานภายในประเทศไทยและการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในตลาดโลก ทั้งนี้ทีมวิจัยได้เลือกใช้วัสดุทางการเกษตรที่เป็นพืชเศรษฐกิจของไทยมาเป็นส่วนประกอบในการพัฒนาวัสดุต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย”
ปัจจุบันทีมวิจัยอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มเต้านมจำลองให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด และคาดว่าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัทผู้ร่วมวิจัยได้ในอนาคตอันใกล้ โดยน่าจะเริ่มผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้ทีมแพทย์ไทยได้ใช้งานได้ภายใน 1-2 ปีนี้
ดร.บริพัตร กล่าวเสริมทิ้งท้ายว่า ทีมวิจัย อาจารย์แพทย์ และบริษัทเอกชนผู้ร่วมวิจัยมีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลสำเร็จจากการทำวิจัยครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาฝีมือและความเชี่ยวชาญให้แก่บุคลากรทางการแพทย์อย่างทั่วถึง จนเกิดความมั่นคงด้านสาธารณสุข และตอบโจทย์การเป็นเมดิคัลฮับ (medical hub) ของประเทศ
สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ได้ที่ ดร.บริพัตร เมธาจารย์ อีเมล boripham@mtec.or.th, คุณสุนทรีย์ โฆษิตชัยยงค์ งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เอ็มเทค อีเมล soontaree.kos@mtec.or.th หรือคุณวีรวุฒิ จิรนันทศักดิ์ บริษัทเซ็ค เซอร์วิส แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด อีเมล weerawuthj@gmail.com